"อุตรดิตถ์" จัดพิธีแห่น้ำขึ้นโฮง ขบวนแห่เครื่องบวงสรวง เครื่องสักการะ เครื่องบายศรี หมากสุ่ม หมากเป็ง ขบวนต้นดอก ขบวนต้นผึ้ง ขบวนตุง สักการะดวงวิญญาณเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ ผู้สร้างและปกครองเมืองลับแล ให้ลูกหลานมีอยู่มีกินมาถึงปัจจุบัน 1,052 ปี 13 หมู่บ้าน ฝายหลวง รำลึกคุณงามความดี ส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์วัฒนธรรมและสืบทอดประเพณี
เมื่อเร็วๆนี้ ที่บริเวณอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร หมู่ 7 ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง สรงน้ำเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ ครองเมืองลับแล เมื่อปี พ.ศ.1513 ได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองจนเจริญก้าวหน้าและสร้างความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขจนพระองค์ชราภาพและสวรรคตในเวลาต่อมา ลูกหลานมีอยูมีกินมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1,052 ปี
ชาวตำบลฝายหลวงประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะผู้บริหารส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อบต.) ฝายหลวง สภาวัฒนธรรมตำบลฝายหลวง เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ทุเรียน ลางสาด ลองกอง มังคุด ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน ร่วมใจกันจัดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง สรงน้ำเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ประจำปี พ.ศ.2565 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ด้วยการนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำเวียงเจ้าเงาะพื้นที่ตำบลทุ่งยั้ง เป็นน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ ดอกไม้ น้ำอบ น้ำหอมเป็นส่วนผสมใส่ขัน ใส่หาบ นำมาสรงน้ำเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารในครั้งนี้ โดยชาวบ้านแต่งกายชุดพื้นเมือง มีขบวนแห่ เครื่องบวงสรวง เครื่องสักการะ เครื่องบายศรี หมากสุ่ม หมากเบ็ง ขบวนพวงมาลัย 7 สี 7 ศอก ขบวนผ้าสามสี ด้ายขาวด้ายแดง ขบวนต้นดอก ขบวนต้นผึ้ง ขบวนตุง ขบวนวัฒนธรรม วิถีชุมชน คนพื้นถิ่นไทยยวนลับแลง ขบวนพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ขบวนหอมและกระเทียม เป็นการแสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ที่มีมาแต่โบราณ 1,052 ปี มาจนถึงปัจจุบันนี้
" พิธีแห่น้ำขึ้นโฮงหรือขึ้นโรง เป็นการนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ประพรมด้วยน้ำอบน้ำหอม ขึ้นสักการะดวงวิญญาณเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองลับแล ตลอดจนเทพารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ ม่อนอารักษ์แห่งนี้ ช่วยดลบันดาลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ดีกินดี ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์และขายได้ราคา "
การจัดงานพิธี “แห่น้ำขึ้นโฮง” ครั้งนี้ เพื่อแสดงความเคารพกตัญญูและระลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างและครองเมืองลับแลในอดีต, เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรม ตลอดจนสืบทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นตำบลฝายหลวงให้คงอยยู่กับลูกหลานตลอดไป, เพื่อให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจในประเพณีท้องถิ่นของตนเอง เป็นการสร้างความรักความสามัคคีให้กับหมู่คณะชุมชนหมู่บ้านมากยิ่งขึ้น, และเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมยุทธศาสตร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวงในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตำบลฝายหลวง
โดยมีนายชูชาติ จันทร์วัฒนพงษ์ นายก อบต.ฝายหลวงกล่าวรายงานในพิธีเปิดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง สรงน้ำเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ ครองเมืองลับแล, นายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอลับแล ในนาฐะพ่อเมืองลับแล กล่าวคำถวายเครื่องราชสักการะแด่ เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์เมืองลับแล, นายรัตน์ ประสารศรี ประธานวัฒนธรรมตำบลฝายหลวงกล่าวคำฮ่ำไหว้สา ยอพระปารมีเจ้าฟ้าฮ่าม ปฐมกษัตริย์เมืองลับแล
เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารทรงเป็นกษัตริย์ในตำนานแห่งนครลับแล มีตำนานปรัมปราเล่าว่า ใน “นครโยกนาคพันธุ์สิงหนวัติโยนกนาคไชยบุรีศรีเชียงเเสน” เกิดข้าวยากหมากเเพง จึงมีการอพยพย้ายถิ่นฐานหาที่อยู่ใหม่มีหนานคำลือ เเละ หนานคำเเสนเป็นผู้พาชาวเมืองเชียงเเสนลงมาเเละสร้างบ้านเเปลงเมืองในบริเวณที่เป็นเมืองลับเเลในปัจจุบัน ต่อมาได้หักร้างถางพงทำไร่ทำสวนจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีวัวควายช้างม้ามากมายบริเวณที่เป็นคอกวัว ควาย ต่อมาเรียกว่า "บ้านคอกควาย "บริเวณที่เป็นโรงเลี้ยงช้าง ต่อมาเรียกว่า " บ้านคอกช้าง "หนานคำลือเเละหนานคำเเสนมีบุตรสาวชื่อนางสุมาลี เเละ นางสุมาลามีหน้าตาสวยงาม ต่อมาได้เป็นผู้คิดการทำผ้าตีนจก หน้าหมอนหกหมอนเเปด ผู้เป็นพ่อเห็นเข้าก็ชอบใจเเละคิดว่าจะนำไปถวายเเก่กษัตริย์เมืองโยนก
เมื่อกษัตริย์โยนกเห็นเเล้วก็ชอบพระทัยจึงขอนางสุมาลีเเละนางสุมาลาให้เเก่โอรส คือ เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร หนานคำลือเเละหนานคำเเสนเห็นว่า “ลับเเล” ยังไม่มีกษัตริย์ปกครองจึงทูลขอให้เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารลงไปปกครองเมืองลับเเล เมืองโยนกจึงจัดขบวนขันหมากสู่ขอนางสุมาลีเเละนางสุมาลาถึงลับเเล
เมื่อเข้าเขตลับเเล ชาวเมืองลับแลพร้อมใจกันต้อนรับเจ้าฟ้าฮ่ามเเละขบวนขันหมากด้วยความยินดีจึงได้ปูผ้าขาวตลอดทางเข้าสู่เขตลับเเล ที่นั่นจึงได้ชื่อว่า บ้านต้นเกี๋ย ( ต้นเกลือ ) เมื่อมาถึงเจ้าฟ้าฮ่ามจึงได้มอบเเหวนให้เเก่นางสุมาลีเเละนางสุมาลา ที่นั่นจึงได้ชื่อว่า บ้านปันเเหวน เมื่อเห็นดังนั้นชาวเมืองต่างพากันยินดี ที่นั่นจึงได้ชื่อว่า บ้านเเสนสิทธิเจ้าฟ้าฮ่ามปกครองบ้านเมืองอย่างสงบสุข
สำหรับพระราชประวัติของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารพระองค์นี้กล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชบุตรในพระเจ้าเรืองไทธิราช กษัตริย์ราชวงศ์สิงหนวัติแห่งอาณาจักรโยนกเชียงแสน พระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระราชบิดาให้มาปกครองนครลับแล ซึ่งถือว่าเป็นเมืองชายแดนของอาณาจักรโยนกนาคนครเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ.1513 เพื่อป้องกันภัยจากการรุกรานของกำโพชนคร (ขอม) และ พม่า จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งนครลับแล
ในปี พ.ศ.1506 อาณาจักรโยนกเชียงแสน อันมีเมืองนาคพันธ์สิงหนวัติชัยบุรีศรีช้างแสนเป็นราชธานี (ปัจจุบันคืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) ได้เกิดสงครามรบพุ่งกันอยู่เนืองๆ ทั้งโรคระบาดเกิดขึ้นมากมาย มีผู้เจ็บป่วยล้มตายอยู่เป็นประจำ ราษฎรต่างพากันแยกย้ายละทิ้งถิ่นฐานเดิมไปหาแหล่งทำมาหากินที่ใหม่กันเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีราษฎรประมาณ 70 ครัวเรือน ทนต่อความทุกข์ยากในนครเชียงแสนไม่ไหวจึงได้ชักชวนกันไปหาที่ทำกิน และยกให้หนานคำลือ กับหนานแสนคำ เป็นหัวหน้าครอบครัว เดินทางล่องใต้เพื่อแสวงหาถิ่นฐานทำกินแห่งใหม่ หนานคำลือกับหนานแสนคำฝันว่าดวงวิญญาณของ "เจ้าปู่พญาแก้ววงเมือง" (กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งนครโยนก) มาบอกว่าที่แหล่งทำมาหากินอันอุดมสมบูรณ์มีน้ำตกและธารน้ำไหลตลอดทุกฤดูกาล สภาพดินฟ้าอากาศไม่หนาวไม่ร้อน ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญดวงวิญญาณของปู่พญาแก้ววงเมืองไปด้วยเพื่อเสาะหาแหล่งทำมาหากินให้ได้ตามความฝันนั้น การเดินทางผ่านจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่ในที่สุดก็บรรลุถึงหุบเขาลับแล จนสามารถมองเห็นภูมิประเทศซึ่งตรงกับความฝันทุกประการ ประกอบด้วย น้ำตกธารน้ำไหล ดินฟ้าอากาศชุ่มเย็น มีภูเขาเตี้ยๆ อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด แสงแดดส่องลงถึงพื้นดินเพียงครึ่งวัน จึงตกลงใจปักหลักสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า "บ้านเชียงแสน" ช้าง ม้า วัว ควาย ที่นำมาด้วยก็จัดให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ห่างไกลเป็นระยะๆ พอสมควร ต่อมาบริเวณที่ควายอยู่ก็ให้ตั้งชื่อว่า "บ้านคอกควาย" และที่ช้างอาศัยอยู่ก็ให้ตั้งชื่อว่า "บ้านคอกช้าง" ชื่อหมู่บ้านเหล่านี้ได้มีการเรียกขานกันจนถึงปัจจุบัน
เมื่อตั้งบ้านเรือนเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจึงประชุมกันแต่งตั้งให้หนานคำลือเป็น "เจ้าแคว้น" (เทียบเท่ากับกำนัน) ปกครองชาวบ้าน และแต่งตั้งให้หนานคำแสนเป็น "เจ้าหลัก" (เทียบเท่ากับผู้ใหญ่บ้าน) เจ้าหนานทั้งสองได้ดูแลปกครองลูกบ้านอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขเป็นเวลายาวนาน 7 ปีเศษ จึงมอบหมายให้หนานคำลือเป็นหัวหน้านำราษฎรจำนวน 10 กว่าคนเดินทางรอนแรมออกจากลับแลกลับไปส่งข่าวยังโยนกนคร เมื่อเดินทางถึงแล้วเจ้าแคว้นก็ได้นำราษฎรเข้าเฝ้าพระเจ้าเรืองไทธิราช กษัตริย์องค์ที่ 21 แห่งโยนกนคร และกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบถึงการอพยพไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข พระเจ้าเรืองธิราชดีพระทัยยิ่งนัก นอกจากนั้นยังกราบทูลให้ทรงทราบอีกว่าที่ลับแลยังไม่มีพระสงฆ์ที่จะคอยอบรมสั่งสอนบุตรหลานและประกอบพิธีกรรมต่างๆ พระองค์ก็ให้พระสงฆ์มาอยู่ด้วย 6 รูป ครั้นเมื่อเดินทางกลับมาถึงลับแลราษฎรต่างก็ดีใจ ญาติพี่น้องที่ติดตามมาก็ได้พบปะกันอีกคราว และมีพระสงฆ์มาด้วยอีก 6 รูป จึงได้จัดที่พักพาอาศัยให้ชั่วคราว แล้วช่วยสร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรกในลับแล ชื่อ "วัดเก้าเง้ามูลศรัทธา" หรือเรียกกันว่า "วัดใหม่"
"ลับแล" มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ราษฎรอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข บุตรหลานก็เจริญเติบโต บ้างก็มีครอบครัวแยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันตามอัธยาศัย แต่บุตรสาวเจ้าแคว้นและเจ้าหลักชื่อสุมาลี และสุมาลา ทั้งสองสาวผิวพรรณผ่องใสสวยงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย มีความฉลาดหลักแหลม ขยันขันแข็ง หากมีเวลาว่างก็จะสนใจในงานเย็บปักถักร้อย จนเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วทั้งหมู่บ้าน นางทั้งสองได้ช่วยกันคิดค้นจนสามารถสร้างหูกทอผ้าได้เป็นผลสำเร็จ และช่วยกันทอผ้าแบบต่างๆ ที่ใช้สอยกัน ที่สำคัญคือนางทั้งสองได้ช่วยกันคิดค้นทอผ้าซิ่นตีนจกจนเป็นผลสำเร็จ มีลวดลายสวยสดงดงาม นำวิถีชีวิตของชาวลับแลถ่ายทอดลงไปบนเชิงผ้า และงานจกผ้าอื่นๆ ผสมกลมกลืนกันได้อย่างงดงาม ตลอดจนอบรมเผยแพร่ให้กับบุตรหลานชาวบ้านจนสืบทอดกันมาถึงทุกวันนี้ เจ้าแคว้นและเจ้าหลักเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ที่บุตรสาวทั้งสองได้ทำขึ้นนั้นมีคุณค่าสวยงาม เหมาะสมที่เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน จะได้ใช้สอยด้วย จึงชักชวนกันนำสิ่งประดิษฐ์และนำบุตรสาวทั้งสองไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรืองไทธิราช พร้อมกับถวายผ้าซิ่นตีนจกและสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายที่ได้จากการถักทอของบุตรสาว
พระเจ้าเรืองไทธิราชพอพระทัยยิ่งนักออกปากชมมิได้หยุด พระองค์พิเคราะห์ดูแล้วเห็นว่าหญิงสาวทั้งสองคนนี้มีลักษณะรูปทรงผิวพรรณดีผิดแผกจากสามัญชนธรรมดาทั่วๆ ไป มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการเหมาะที่จะเป็นชายาแห่งราชบุตรของพระองค์ได้ จึงเอ่ยปากขอบุตรทั้งสองคนต่อเจ้าแคว้นและเจ้าหลักเพื่ออภิเษกให้เป็นชายาของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ราชบุตรของพระองค์ ส่วนเจ้าแคว้นและเจ้าหลักกราบทูลว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น เป็นบุญวาสนาแก่ธิดาของข้าพเจ้าทั้งสองอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ แล้วแต่จะทรงพระกรุณา แล้วเจ้าแคว้นกับเจ้าหลักจึงกราบบังคมทูลลากลับเมืองลับแล
พระเจ้าเรืองไทธิราชจึงประกาศหมายกำหนดการให้อภิเษกสมรสพระราชบุตรภายในเวลา 6 เดือน ครั้นถึงกำหนดเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร พร้อมพระญาติ สมณชีพราหมณ์ ทหาร ข้าทาสบริวาร ตกแต่งขบวนขันหมากแห่แหนจากโยนกนคร เดินทางมุ่งหมายมายังเมืองลับแลประกอบพิธีอภิเษกสมรสตามราชประเพณีเชียงแสนโบราณ พร้อมกับตั้งให้นางสุมาลี และนางสุมาลา เป็นชายาซ้าย-ขวา โดยพระราชทานนามว่า "พระเทวีเจ้าสุมาลา" และ "พระเทวีเจ้าสุมาลี" และโปรดฯ ให้สร้างวังขึ้นในบริเวณที่เป็นวัดป่าแก้วเรไรหรือวัดเจดีย์คีรีวิหาร ซึ่งมีร่องรอยของคูเมืองอยู่ เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารก็ได้ขึ้นครองเมืองลับแลเป็นปฐมตั้งแต่นั้นมา (พ.ศ.1513)
จากนั้นได้มีราษฎรอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น พระองค์ได้จัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินให้แก่ราษฎรโดยทั่วหน้ากัน ราษฎรเชื้อสายเชียงแสนให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่บ้านคอกช้าง, บ้านต้นเกลือ, ถึงบ้านท้องลับแล, บ้านยางกระดาย, บ้านนาแต๊ว, บ้านนาทะเล, และบ้านปากฝาง พระองค์ทรงดำรงตนอยู่ใต้ทศพิธราชธรรม ทรงปกครองราษฎรแบบบิดาปกครองบุตร ตัดสินคดีความด้วยพระเมตตา อบรมสั่งสอนราษฎรเป็นพลเมืองดี มีความขยันขันแข็ง ทุกคนก็อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา พระองค์มีจิตใจฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาเป็นยิ่งนัก เมื่อครั้ง พ.ศ.1519 พระองค์ทรงดำริให้จัดสร้างสถูปเจดีย์เพื่อประกาศพระศาสนา และได้เสด็จไปยังเมืองโยนกนครเพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากดอยตุง จังหวัดเชียงราย อัญเชิญมาบรรจุไว้ที่สถูปเจดีย์วัดป่าแก้วเรไร (วัดเจดีย์คีรีวิหาร) เป็นวัดแห่งแรกของเมืองลับแล
ราว พ.ศ. 1525 หลังจากปราบพวกขอมที่มารุกรานราบคาบแล้วพระองค์จึงเสด็จไปเมืองโยนกนครอีกครั้งเพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระบิดาจำนวน 32 องค์ เพื่อมาบรรจุไว้ ณ สถูปเจดีย์ม่อนธาตุ ทั้งได้สร้างวัดชัยชุมพล และวัดดอยชัย ขึ้นไว้ในหมู่บ้านอีกด้วย
เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารได้ครองเมืองลับแลอยู่เป็นเวลายาวนาน ทำนุบำรุงบ้านเมืองจนเจริญก้าวหน้า ราษฎรอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข จนชราภาพจึงเสด็จสวรรคต ยังความโศกเศร้าอาลัยของอาณาประชาราษฎร์เป็นยิ่งนัก จึงพร้อมใจกันนำอัฐิของพระองค์มาบรรจุไว้ ณ ม่อนอารักษ์ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของประชาชนทั่วไป และเกิดประเพณีแห่น้ำขึ้นโรงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
สมภพ สินพิพัฒนฤดี ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดอุตรดิตถ์