วันที่ 18 มีนาคม 2562 ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้โพสต์ผ่าน face book ส่วนตัว เกี่ยวกับกรณี ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฐานหลุมผลิตน้ำมัน STN-2 ใกล้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ด้วยข้อความดังนี้
“หยุดเดินหน้าทำอีไอเอขุดเจาะนำ้มันใกล้ศรีเทพ อย่าให้อ้อยเข้าปากช้าง”
กรณีที่ทุนจีนมีแผนการตั้งฐานหลุมผลิตน้ำมัน STN-2 ใกล้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายทั้งประชาชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคประชาสังคม และสังคมในวงกว้าง รวมถึงกรมศิลปากร แต่กลับมีการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งสรุปที่สำคัญที่สุดคือ การสรุปการตอบแบบแสดงความเห็นเพิ่มเติมหลังการประชุมที่ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วย 62.2%
ขอบคุณภาพจาก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
สิ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตก็คือ
1.แม้บริษัทแถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะยกเลิกฐานหลุมผลิตดังกล่าว แต่กลับไม่ได้ยุติกระบวนการทำอีไอเอแต่อย่างใด โดยมีการจัดทำรายงานดังกล่าว
2.ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ผมเชื่อว่าประชาชนชาวเพชรบูรณ์และภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่น่าจะได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในเวทีรังฟังความคิดเห็น ทั้งที่อุทยานศรีเทพเป็นทรัพย์สมบัติของคนเพชรบูรณ์และสังคมไทย และกำลังอยู่ในประบวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกับ UNESCO ดังจะเห็นได้จากทั้งสามเวทีมีผู้เข้าร่วมแค่ 247 คนเท่านั้น และในจำนวนนี้ตอบแบบสอบถาม 195 คน นอกจากนั้น คนที่เข้าร่วมส่วนหนึ่งคือ ผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้าน ซึ่งบางคนมีท่าทีเชียร์โครงการอยู่แล้ว และมีความคาดหวังที่ผิดๆ เช่น จะทำให้คนท้องถิ่นมีงานทำ หรือสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น ดังที่สื่อมวลชนได้รายงานความเห็นของผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง
3.การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และประเมินทางเลือกโครงการ ซึ่งย่อมไม่ได้หมายถึงการทำโพล แบบหยาบๆ เช่นนี้
4.ในการจัดเวทีมีลักษณะของเตรียมคำตอบไว้หมดแล้วดังในตารางคำชี้แจง/คำชี้แจงเพิ่มเติม ทั้งที่ควรนำคำถามของผู้เข้าร่วมไปประมวลเพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และประเมินทางเลือกโครงการ เวทีแบบนี้จึงกลายเป็นเวทีประชาสัมพันธ์ และข้อเท็จจริงนี้ก็ตอกย้ำให้เห็นจากการทำแบบแสดงความคิดเห็นแบบหยาบๆ ออกมาหลังการจัดเวที
ผมคิดว่าการทำเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีความจริงใจว่าจะยกเลิกฐานหลุมผลิตนี้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมต้องร่วมกันเรียกร้องให้บริษัทหยุดทำอีไอเอ เพราะหากปล่อยให้ทำต่อไปจนเสร็จ ก็จะเข้าตำราอ้อยเข้าปากช้างเหมือนกับหลายโครงการที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฐานหลุมผลิตน้ำมัน STN-2 ผ่านเวบไซด์ http://www.visione-consult.com ของบริษัทผู้จัดทำ EIA พบว่ารายงานหน้าที่ 7 ในการตอบประเด็นคำถามในเวทีสาธารณะระดับอำเภอและระดับตำบล รายงานว่า ฐานหลุมผลิตน้ำมัน STN-2 ไม่อยู่ในพื้นที่เขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และในรายงานหน้าที่ 9 ในการประชุมย่อยระดับหมู่บ้าน แจ้งว่า ยังไม่ได้แจ้งกรมศิลปากรเพื่อทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่โดยอ้างว่าจะทำการสำรวจและเก็บข้อมูลในภาคสนาม
ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท วิชั่น อี คอนซัลแทนท์ จากัด (นิติบุคคลผู้จัดทารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม)